วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สื่อAnimationกับการเรียนรู้ของเด็กก่อนวัยเรียน

ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีที่ให้ทั้งข้อมูลข่าวสาร และสามารถใช้ในการติดต่อสื่อสารมากขึ้นทั่วโลก


ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีที่ให้ทั้งข้อมูลข่าวสาร และสามารถใช้ในการติดต่อสื่อสารมากขึ้นทั่วโลก การเรียนรู้ในปัจจุบันสามารถพบบนหน้าจอโทรทัศน์ หรือบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ และสื่อรูปแบบต่างๆ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งมีแนวโน้มใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านั้นสร้างความประทับใจและสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้กับเด็กได้ง่าย

ครอบครัวสมัยใหม่ในขณะนี้ กำลังเผชิญหน้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น การพิจารณาเลือกสื่อที่จะช่วยสนับสนุนเด็กในด้านต่างๆ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะสนับสนุนให้มีกระบวนการพัฒนาขีดความสามารถสื่อการเรียนรู้และความบันเทิง (Edutainment Media)จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ที่ผสมผสานในเรื่องของ "การศึกษา" และ "ความบันเทิง" เข้าด้วยกัน ให้ผู้เรียนรู้พบกับความน่าสนใจ ความบันเทิง ส่งผลไปยังพฤติกรรมที่ได้จากการเรียนรู้ ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมในการใช้สื่อการเรียนรู้และความบันเทิงกับผู้ปกครองที่บ้าน หรือกับคุณครูที่โรงเรียน

จะเห็นได้ว่า สื่อปัจจุบัน ที่วางขายตามท้องตลาดมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆสื่อ VCD & DVD หรือเกมคอมพิวเตอร์ ตลอดจนภาพยนตร์การ์ตูน Animation ที่บรรดาผู้ปกครองทั้งหลายควรตระหนักถึงการเลือกสรรผลิตภัณฑ์สื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กมากที่สุด การประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ของไทย ในปัจจุบันนับว่ามีความก้าวหน้าขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ก้านกล้วย ที่เด็กๆเกือบทุกคนรู้จัก และได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทย ผ่านสื่อการเรียนรู้ชนิดนี้ นับว่าเป็นความสำเร็จที่สำหรับธุรกิจควรดำเนินต่อไป รวมทั้งผู้ผลิตสื่อต่างๆของไทย ควรเพิ่มเติมความรู้ให้กับเด็ก ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ ให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาควรจะได้รับ

นับว่า การเรียนรู้ในด้านวัฒนธรรมไทยพื้นฐานจึงสามารถเรียนรู้ได้ผ่านสื่อการ์ตูน Animation ที่สามารถจูงใจเด็กให้เกิดการเรียนรู้ได้ในรูปแบบของวีซีดี(VCD) และดีวีดี (DVD) โดยมีเป้าหมายให้เด็กไทยที่ได้บริโภคใช้สื่อชนิดนี้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมไทยเบื้องต้น

จากการที่ผู้เขียนเองได้ทำการศึกษาวิจัย โดยการสร้างภาพยนตร์การ์ตูน Animation ในเรื่องของ "การสร้างความสามัคคี" และได้ทำการทดสอบกับเด็กก่อนวัยเรียนในระดับอนุบาลกลุ่มเล็กๆ ก็สามารถค้นพบได้ว่าเด็กตัวเล็กๆ สามารถเรียนรู้จากเรื่องราวที่เขาได้ดู ได้เห็นจินตนาการ บวกกับประสบการณ์ของเด็กเอง ก็จะได้คำตอบซึ่งเป็นมุมมองในหลายๆ เรื่อง ยกตัวอย่างเช่นก่อนการเรียนรู้ มีการทดสอบว่า เด็กรู้หรือไม่ว่าความสามัคคีคืออะไร การกระทำใดเรียกว่าสามัคคี ผลลัพธ์ก็คือเด็กก่อนวัยเรียนไม่ทราบว่าการกระทำใดบ้างที่เรียกว่าสามัคคี (ร้อยละ 100) และเด็กก่อนวัยเรียนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าการกระทำใดบ้างที่เรียกว่าไม่สามัคคี (ร้อยละ 70) และไม่ทราบว่าหากทุกคนมีความสามัคคีแล้วจะเป็นอย่างไร หรือไม่มีความสามัคคีแล้วจะเป็นอย่างไร(ร้อยละ 90) นอกจากนี้ยังได้ถามเด็กส่วนใหญ่ว่าสื่อที่ใช้เป็นอย่างไร เด็กส่วนใหญ่คิดว่าสื่อการเรียนรู้ประเภทVCD/DVD มีความสนุก (ร้อยละ 100)

หลังการเรียนรู้ พบว่า เด็กก่อนวัยเรียนเริ่มรู้ว่าความสามัคคีคืออะไร (ร้อยละ 50) และทราบว่าการกระทำใดบ้างที่เรียกว่าสามัคคี (ร้อยละ 90) และเด็กก่อนวัยเรียนทั้งหมดทราบว่าการกระทำใดบ้างที่เรียกว่าไม่สามัคคีทราบว่าหากทุกคนมีความสามัคคีแล้วจะเป็นอย่างไรหรือหากไม่มีความสามัคคีแล้วจะเป็นอย่างไร (ร้อยละ100) และเด็กส่วนใหญ่คิดว่าสื่อการเรียนรู้ประเภท VCD/DVD มีความสนุก (ร้อยละ 100) และทุกคนทราบว่าเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับเรื่องความสามัคคี (ร้อยละ 100)

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สื่อที่นำไปใช้เป็นเครื่องมือสามารถช่วยให้เกิดการเรียนรู้สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนซึ่งเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้สื่อการเรียนรู้ การกระตุ้นโดยสื่อจึงมีความสำคัญสามารถกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ หรือสร้างพฤติกรรมในทางที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องได้ ในบางเรื่องได้อย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น สื่อประเภทเกมคอมพิวเตอร์ต่างๆ หากไม่เหมาะสมกับช่วงวัย หรือเป็นสื่อที่สร้างพฤติกรรมรุนแรง ก็สามารถเลียนแบบพฤติกรรมและปฏิบัติจริงนอกจอคอมพิวเตอร์ ดังเช่นข่าวที่เกิดความรุนแรงภายหลังจากการบริโภค แล้วทำให้เกิดการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศที่เราได้เคยได้รับทราบข้อมูลกัน

ดังนั้น สำหรับผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็ก ควรวางเป้าหมายให้เหมาะสมสำหรับวัยเด็ก ไม่สร้างพฤติกรรมที่ส่งผลในเชิงลบให้กับเด็ก และที่สำคัญก็คือ กระบวนการคัดกรองสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อระบบใหญ่ (Mass com munication) ควรมีหน่วยงานของรัฐ เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดกรอง ป้องกัน และจับตาว่าสื่อชนิดใดบ้างไม่เหมาะสม สื่อชนิดใดสร้างพฤติกรรมที่รุนแรง หรือเป็นสื่อที่ไม่เหมาะกับสำหรับการบริโภค และเร่งหาทางแก้ไขนอกจากนี้ ยังควรเพิ่มรายการสื่อที่มีสาระ เรียนรู้ธรรมชาติให้มากขึ้น เรียนรู้สังคม สร้างความคิดสร้างสรรค์ ร่วมกันแก้ไขปัญหา หรือไม่โฆษณาเกินจริง เนื่องจากเยาวชนรุ่นใหม่ของเราที่เป็นเด็กตัวเล็กๆ ได้บริโภคสิ่งเหล่านี้--จบ--


ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น